วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การฟังสวดพระอภิธรรม


เมื่อมีการเกิดขึ้นก็ย่อมมีการแตกดับเป็นของธรรมดาหรือตามสภาวธรรมของสังขารทั้งหลายที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ที่เป็นทุกข์เพราะทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และเป็นอนัตตา คือ ไม่อยู่ในการควบคุมของใคร หรืออาจกล่าวได้ว่า ความตายนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ไม่มีผู้ใดจะไปบังคับให้ตาย หรือไม่ให้ตายได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้คนเรารำลึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้ละเว้นความเชื่อ ประพฤติแต่ความดี

เมื่อมีการตายเกิดขึ้น มีประเพณีนิยมให้ผู้เป็นเจ้าภาพกระทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย และเป็นการประกาศให้ได้ทราบว่า ผู้ใดเป็นผู้สืบสกุล เพราะฉะนั้นผู้ที่มาเยี่ยมเคารพศพจึงมีโอกาสที่จะร่วมทำบุญและมาเยี่ยมผู้สืบสกุลด้วย จึงเกิดมีพิธีสวดพระอภิธรรม ขึ้น ซึ่งการสวดพระอภิธรรมนั้นเป็นเรื่องสอนคนที่ยังมีชีวิตอยู่จะได้พิจารณาในมรณานุสสติกัมมัฏฐาน คือ ให้มีสติระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เพราะบทสวดกล่าวถึงความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร ทำนองว่าเมื่อเช้าก็ยังเห็นหน้าอยู่ตกตอนเย็นตายเสียแล้ว เป็นต้น

ในสมัยก่อนนั้นมีการสวดพระอภิธรรมหรือสวดหน้าศพกันเกือบตลอดคืนหรือครึ่งคืน แต่ในปัจจุบันบทสวดนิยมเพียงสี่จบ หรือจบเดียวก็ได้ นับว่าเหมาะสมกับกาลสมัยที่คนเรามีภารกิจที่จะต้องทำในเวลากลางวันมากมาย จึงควรจะได้มีเวลาพักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอที่จะเผชิญกับชีวิตในวันใหม่ (ชีวิตไทย ชุด บรรพบุรุษของเรา, 2540 : 179-187)

การสวดพระอภิธรรมนั้น พระท่านจะสาธยายอภิธรรมเป็นคำสอนในพระไตรปิฎก มิใช่เป็นการสวดส่งวิญญาณผู้ตายแต่อย่างใด 

เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติมานาน โดยถือว่าเมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปสวรรค์แล้ว แสดงอภิธรรมโปรดพุทธมารดา


การสวดพระอภิธรรมจึงได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันเพื่อแสดงความกตัญญูต่อผู้ตาย ฉะนั้น ผู้ที่ไปงานศพฟังพระอภิธรรม ผู้เข้าร่วมพิธีฟังพระอภิธรรมควรแต่งตัวตามประเพณีนิยม ไม่ควรพูดคุยหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน ตั้งใจฟังพระสวดพระอภิธรรมและพินิจพิจารณาตามด้วยจิตใจอันสงบ จะทำให้เกิดความหลายกำหนัดยินดีน้อมรำลึกถึงความตายเพื่อจะไม่ตกอยู่ในความประมาทแห่งชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น